top of page
Search
  • Writer's pictureสายลม ดอย

ชุดไทยล้านนา

ชุดล้านนาแบบไทยวน

เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าหลายปีมานี้กระแสแห่งการหวนคืนธรรมชาติและการดำรงอยู่ ของคนเมืองในอดีตกำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการและประชาชนเป็นจำนวนมาก มีหลายกลุ่มหลายหน่วยงานออกมาสนับสนุนวัฒนธรรมแบบล้านนาด้วยการพร้อมใจกันแต่งกาย ย้อนยุคในโอกาสงานเทศกาลต่าง ๆ นัยว่าเพื่อเป็นการอนุรักษ์รักษาประเพณีและวัฒนธรรมของคนเมืองเอาไว้ไม่ให้สูญสลาย

แม้ว่ากระแสการแต่งกายของคนเมืองล้านนาจะกำลังได้รับความนิยมไม่มากนัก แต่การได้เริ่มต้นนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ผมเองนิยมชมชอบเป็นอย่างยิ่งเมื่อมีโอกาสได้พบเห็นผู้หญิงชาวเชียงใหม่แต่งกายด้วยผ้าซิ้น เกล้าผมมวยปักด้วยดอกไม้

การแต่งกายของคนเมืองล้านนาในอดีตที่ผ่านมาสันนิษฐานกันว่า จะนิยมทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่มห่มสำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์หรือให้เป็นทานแก่ผู้ยากจน ตลอดจนเป็นสินค้าสำหรับส่งไปขายยังอาณาจักรอื่น ๆ ผ้าที่เชื่อกันว่าทอขึ้นใช้ในสมัยนั้นได้แก่ ผ้าสีจันทน์ขาว, ผ้าสีจันทน์แดง, ผ้าสีดอกจำปา, ผ้าธรรมดาและผ้ากัมพล เป็นต้น

เมื่อชาวล้านนานิยมการสักตามตัวในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ชาวล้านนามักจะไม่สวมเสื้อ นอกจากในการแต่งตัวเต็มยศ โดยทั่วไปผู้ชายจะสักยันต์ตามตัวนุ่งผ้าต้อย ซึ่งเป็นผ้านุ่งขนาดต่าง ๆ กัน โดยจะม้วนชายผ้าเป็นเกรียวสอดระหว่างขาซึ่งเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรและโจงกระเบน นิยมใช้ผ้าคล้องไหล่และโพกหัว ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่นลายขวางเกือบคล่อมเท้า ท่อนบนมีผ้าผืนหนึ่งไว้คล้องคอ พันหน้าอก หรือ พาดบ่า เกล้าผมมวยกลางศรีษะปักปิ่นไว้ที่ผม

หญิงชาวล้านนาจะนิยมห่มผ้าเฉียงแบบสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” นุ่งผ้าซิ่น ส่วนผู้ชายจะนุ่งผ้าต้อยขนาดยาวแบบโจงกระเบน สวมเสื้อคอจีนติดกระดุม ถ้าเป็นเจ้านายจะสวมเสื้อไหมคล้ายเสื้อครุยทับอีกชั้นหนึ่ง มีผ้าพันเอว 2 ผืน คือ รัดทับผ้าต้อยและเสื้อชุดล้านนาแบบไทยวน ใส่เสื้อแขนกระบอก ห่มสไบแพรเฉียงทับ นุ่งซิ่น


ตีนจกคำเคิบ ตัวซิ่นทอลวดลายต่างๆ ได้แก่ลายดอกไม้ เช่น ลายดอกจันทร์แปดกลีบ ดอกแก้ว ดอกมะเฟือง ดอกกุหลาบ ดอกหมาก ดอกเปา ผักกูด และข้าวลีบ ลายของใช้ เช่น ลายโดม ผาสาท (ปราสาท) ลายสัตว์ เช่นลายนก นกกินน้ำต้น (คณโฑ) พญานาค นาคชน นาคหวัน (กระหวัด) ช้าง ช้างต่างม้า ม้าต่างหงส์ กระต่าย ฯลฯ ลายเรขาคณิต เช่น ลายเส้นตรง ลายเหลี่ยม สี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอน้อย ขอลวง ขอเหลียว ฯลฯ ล้วนแล้วมาจากความเชื่อและศรัทธาในพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ผู้นุ่งห่ม ทำผมมวยสูงปักปิ่นรูปร่างต่างๆและดอกไม้หอมเชื่อว่าเป็นการบูชาขวัญตามความเชื่อของชาวล้านนา เมื่อเวลาก้มกราบประหนึ่งได้นำดอกไม้หอมมงคลบูชาแก่พระพุทธเจ้า ตามร่างกายประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับทองเหลืองลวดลายวิจิตร ส่งเสริมให้ผู้สวมใส่งดงาม สวยเด่น อย่างมีคุณค่า







3,539 views0 comments

© 2023 by MATT WHITBY. Proudly created with Wix.com

bottom of page